วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ตำบลบ้านหวด


ข้อมูลทั่วไปตำบลบ้านหวด

เดิมตำบลบ้านหวดอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ โดยเฉพาะไม้สัก ทำให้มีพ่อค้าไม้และเจ้านายฝ่ายเหนือมาตั้งถิ่นฐานเพื่อทำการค้า และตั้งรกรากจนเป็นชุมชนใหญ่ พื้นเพราษฎรในตำบลเป็นชาวไทยล้านนา สื่อภาษากันด้วยคำเมือง และยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่เอาไว้ เช่น อัญเชิญวิญญาณบรรพบุรุษปีละ 2 ครั้ง เป็นต้น
คำว่าหวดไม่ใช่อวดเก่งในทางดี  แต่มีความหมายในทางเศรษฐกิจที่คนทางเหนือทุกครัวเรือนจำเป็นต้องมีการใช้ในชีวิตประจำวัน   นั่นคือ    ภาชนะที่ใช้สำหรับนึ่งข้าวเหนียว
เดิมนั้น  ตำบลนี้เป็นป่าใหญ่เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้ยืนต้นมีราคาคณานับ  พรั่งพร้อมล้อมไปด้วยสิงสาราสัตว์น้อยใหญ่ที่ดุร้ายนานาชนิด  ทรัพยากรธรรมชาติมีมากที่สุดในบ้านนี้  ภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขา  ตั้งแต่แพะ ม่อนดอย ไปถึงเขาสูงเสียดฟ้าป่าปกคลุมเขียวขจี  มีบรรยากาศเย็นเยือกตลอดฤดูกาล
เล่าสืบๆ กันมาว่า ณ  ที่นี้ไม่มีผู้ใดกล้าเข้าไปแสวงหาของป่าเพียงคนเดียวเลยเพราะเสี่ยงต่อการเป็นอาหารของเสือ  หรือถูกช้างเหยียบตายมิได้กลับมาเห็นหน้าลูกเมียเอาง่ายๆ การไปต้องไปกันเป็นหมู่เป็นพวกและต้องมีปืนผาหน้าไม้พร้าหวดไปด้วย  อาหารที่จำเป็นต้องเอาไปที่จะขาดเสียมิได้นั่นคือ ข้าวสารเหนียวส่วนภาชนะที่ใช้หุงต้มเบื้องแรกมักง่ายใครด่วน ก็พากันตัดไม้ไผ่มาแล้วตัดเป็นปล้องๆ ใส่น้ำเผาแบบข้าวหลามเลยทีเดียว  ส่วนกับแกล้มนั้นง่ายมากลากปืนเล็กปั้งเดียวเก้งกวางดิ้นแด่ว  มีดเชือดขาหลังขาหน้านอกนั้นทิ้งไปไม่ใยดีเท่านี้ก็สบายแฮไปแล้วทั้งพวก  ต่อมาการที่จะมีข้าวกันพอเพียงกับคนที่ไปด้วยกัน  จำเป็นต้องใช้ภาชนะหุง (ความจริงทางนี้ นึ่ง) จึงเริ่มหล๊วง (ฉลาด)  กันขึ้นโดยเอาไม้ไผ่มาจักสานเป็นหวดขึ้นใช้หุง (นึ่ง) ข้าวเหนียวครั้งเดียวกินได้หลายคนและหลายๆวัน ด้วยอาหารป่าที่คนเข้าไปแสวงหากันส่วนใหญ่มีหน่อไม้ , เครื่องเทศ , สมุนไพร และล่าสัตว์เล็กๆ  เช่น เก้ง , กวาง , เลียงผาฯ นำไปข่ายแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของอย่างอื่นๆ ที่ตนไม่มีกันนอนค้างแรมคืนหลายๆวันจึงพากันกลับ  ทั้งหวดข้าวไว้ไม่ต้องนำกลับบ้านให้หนักเปล่าๆ  คนใหม่ไปพบก็ใช้นึ่งต่อได้ไม่ต้องเสียเวลาเสียเที่ยวมาฟรีๆ โดยไม่ได้อะไรตอบแทน  นี้เองเป็นที่มาของนามตำบลนี้
          ตำบลบ้านหวด  ชาวท้องถิ่นเดิมทีเดียวเป็นชาวเขาชาวดอย  มีร่างกายเตี้ย  เล็กแต่เดินเร็วแม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังหลงเหลือมาอยู่บ้างไม้สู้จะมากนัก  ส่วนคนที่ร่างกายสูงใหญ่ที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ส่วนมากอพยพไปอยู่ภายหลังหรือเรียกว่า แก้วมาลูนทั้งนั้น
                  ประชากรในตำบลบ้านหวดส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม และมีบางส่วนประกอบอาชีพค้าขาย และรับราชการ ซึ่งประชากรในเขตตำบลบ้านหวดมีรายได้เฉลี่ยคนละ 17,506 บาท/ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น